บทนำ
การเรียนรู้ศิลปะ เป็นกิจกรรมการเรียนที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนในหลายด้าน ช่วยให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจินตนาการทางศิลปะ ชื่นชมความงาม มีสุนทรียภาพ ความมีคุณค่า ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์ กิจกรรมทางศิลปะยังช่วยพัฒนาผู้เรียน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม ตลอดจนการนำไปสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในตนเอง อันเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพได้
ศิลปะสำคัญอย่างไร?
ในโลกของเด็ก ศิลปะ คือ การแสดงออกอย่างอิสระเสรี ที่เต็มไปด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในสิ่งต่างๆ ความบริสุทธิ์ จริงใจ เปิดเผย ตรงไปตรงมา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสมองทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านอารมณ์และความเป็นเหตุผล รวมทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และการพัฒนาภาษา เพียงแต่ผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดเปิดโอกาสสนับสนุนให้เด็กได้แสดงออก ชื่นชมต่อธรรมชาติ การเคลื่อนไหว ดนตรี ศิลปะ ความไพเราะ และสิ่งสวยงามต่างๆ ฝึกให้เด็กรู้จักใช้ประสาทสัมผัสให้สัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม ส่งเสริมให้เด็กได้สังเกต มีไหวพริบ มีความคิดสร้างสรรค์ รู้ จักควบคุมตัวเองและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และมีลักษณะนิสัยที่ดีงาม
- ศิลปะพัฒนาสมอง ทำให้สมองดี เพราะมีจินตนาการ เด็กที่ทำงานศิลปะบ่อยๆ จะเป็นผู้มีความคิดริเริ่ม ช่างสังเกต ช่างจดจำ รู้จักคิด วางแผนการทำงาน มีความละเอียดรอบคอบ ประณีตบรรจง พิถีพิถัน มองเห็นในสิ่งที่คนอื่นอาจมองไม่เห็นได้ ช่วยให้มีความคิดแปลกใหม่ และคิดได้หลากหลาย
- ศิลปะพัฒนาร่างกาย ด้วยการใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างมีสติ ดูเป็น ฟังเป็น รู้จักเลือกเฟ้นให้ได้ความรู้และคุณ ค่าที่ดีงาม พัฒนาการเคลื่อนไหวทางด้านกล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก และพัฒนาประสาทสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ ให้มีความคล่องแคล่ว และมีความสามารถในการทำงาน
- ศิลปะพัฒนาอารมณ์ ความมั่นคงของจิตใจ ช่วยฝึกให้เด็กสงบ นิ่ง มีสมาธิ จดจ่อกับการทำงาน ไม่วอกแวกหวั่น ไหว มีพลัง นุ่มนวลควรแก่งาน มีสติ ไม่เลื่อนลอย ไม่ทิ้งโอกาสที่จะสร้างสรรค์ มีความเพียรพยายาม อดทน รับผิดชอบ มีกำลังใจ ร่าเริง เบิกบาน สดชื่น แจ่มใส ผ่อนคลาย มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง มีสุนทรียภาพ มีความมั่นใจ กล้าแสดงออก รวม ทั้งสามารถควบคุมตัวเองได้เหมาะสมกับวัย
- ศิลปะพัฒนาสังคม สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี ไม่เบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อนต่อผู้อื่น รู้จักใช้วินัยในการดำรงชีวิต เคารพกติกา รักษากฎเกณฑ์ เชื่อฟังพ่อแม่และครู รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปัน เอาใจใส่ คิดดีและชื่นชมในผล งานของผู้อื่น มีพฤติกรรมดีงามในความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ก่อให้เกิดไมตรีและความสามัคคี
- ศิลปะพัฒนาปัญญา ทำให้เด็กมีความสามารถทางด้านความรู้ ความคิด ความเข้าใจ คิดวิเคราะห์ คิดหาเหตุผล คิดอย่างเป็นระบบ ช่วยพัฒนาความจำ รู้จักสรุปความ รู้จักแสวงหาความรู้เพิ่มเติม และสามารถนำความรู้นั้นมาใช้ได้ ด้วยการคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น และดับทุกข์เป็นในที่สุด
- ศิลปะพัฒนาภาษา ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาเพิ่มขึ้น รู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ สามารถลำดับเหตุการณ์ เรียบเรียง คำพูดในการบอกเล่าถึงผลงาน เลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมในการแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆในการทำงาน และสามารถใช้วาจาในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง ช่วยเหลือเกื้อกูล สร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อม
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดเนื้อหาสาระศิลปะไว้อย่างไร?
การเรียนรู้ศิลปะมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจ มีทักษะวิธีการทางศิลปะ เกิดความซาบซึ้งในคุณค่าของศิลปะ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงออกอย่างอิสระในศิลปะแขนงต่างๆ ประกอบด้วยสาระสำคัญ คือ
- ทัศนศิลป์ มีความรู้ความเข้าใจองค์ประกอบศิลป์ ทัศนธาตุ สร้างและนำเสนอผลงานทางทัศนศิลป์จากจินตนาการ โดยสามารถใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม รวมทั้งสามารถใช้เทคนิค วิธีการของศิลปินในการสร้างงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์คุณค่างานทัศนศิลป์ เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างทัศนศิลป์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณ ค่างานศิลปะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล ชื่นชม ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
- ดนตรี มีความรู้ความเข้าใจองค์ประกอบดนตรี แสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์คุณค่าดนตรี ถ่ายทอดความรู้สึกทางดนตรีอย่างอิสระ ชื่นชมและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าดนตรีที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และสากล ร้องเพลง และเล่นดนตรีในรูปแบบต่างๆ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเสียงดนตรี แสดงความรู้สึกที่มีต่อดนตรีในเชิงสุนทรียะ เข้า ใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับประเพณีวัฒนธรรม และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
- นาฏศิลป์ มีความรู้ความเข้าใจองค์ประกอบนาฏศิลป์ แสดงออกทางนาฏศิลป์อย่างสร้างสรรค์ ใช้ศัพท์เบื้องต้นทางนาฏศิลป์ วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์คุณค่านาฏศิลป์ ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดอย่างอิสระ สร้างสรรค์การเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ประยุกต์ใช้นาฏศิลป์ในชีวิตประจำวัน เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างนาฏศิลป์กับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เห็นคุณค่าของนาฏศิลป์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และสากล
เกร็ดความรู้เพื่อครู
ครูเป็นส่วนสำคัญในการจัดประสบการณ์ทางศิลปะ ที่ส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านของเด็ก ข้อเสนอแนะสำหรับคคือ
- 1.จัดเตรียมสถานที่ให้สามารถทำงานได้สะดวก ปลอดภัย จัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมและเพียงพอต่อความต้องการของเด็ก พูดคุยกับเด็กเรื่องการดูแลรักษา การใช้ การจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่ก่อนทำกิจกรรม ระหว่าง และหลังทำกิจกรรมนั้นๆ สอนให้เด็กรู้จักช่วยกันรักษาสมบัติของห้องเรียน
- 2.จัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ มีอิสระในการคิดสร้างสรรค์ เด็กได้ใช้ความคิดอย่างเต็มที่ รู้จักเลือก คิด ตัดสินใจ และสื่อสารในรูปแบบที่ตนต้องการ
- 3.เน้นกระบวนการทำงานมากกว่าผลงาน เด็กได้ใช้กระบวนการต่างๆระหว่างการทำงาน ได้คิด ออกแบบ วางแผน ฝึกทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ การทำงานฝีมือ การเคลื่อนไหวร่างกาย ฯลฯ สามารถคิด พิจารณา ใคร่ครวญ แยกแยะคุณค่าแท้ออกจากคุณค่าเทียมได้ คุณครูให้ความสนใจและเห็นคุณค่าของการทำงานของเด็ก ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงผลงานและนำเสนอถึงที่มาของผลงานนั้นๆ
- 4.กำหนดเวลาการทำงานแต่ละอย่างให้เหมาะสมกับกิจกรรม มีความยืดหยุ่นในเวลา ถ้าเด็กทำงานไม่เสร็จ อาจให้เวลาเพิ่มหรือให้เก็บงานไว้ทำในวันต่อไป ทั้งนี้ ควรให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมกิจกรรม ทำความสะอาดสถานที่และอุป กรณ์ต่างๆ รวมถึงการดูแลจัดเก็บอุปกรณ์ที่นำมาใช้ เพื่อปลูกฝังการช่วยเหลือตนเอง ความเข้าใจถึงหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และห้องเรียน